"เหมือนจะแก้ได้ แต่ไม่ได้" รัฐบาล"จนแต้ม" หมดสภาพ"ชูธงนำไทย"

ขณะที่รัฐบาลออกแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
ขณะที่รัฐบาลกำลังเดินเครื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
ขณะที่รัฐบาลมีโครงการหลากหลายเพื่อรวมไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

หากแต่สภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน กลับดูเหมือนว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้มากนัก
ทั้งนี้ สังเกตได้จากความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ขัดแย้งในสังคมไทย ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยลีลาและอาการเฉกเช่นเดิม

อย่าลืมว่า ประเทศไทยเผชิญวิกฤตหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน
ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งสลับขั้วจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านก้าวกระโดดมาเป็นรัฐบาลเองก็รู้ปัญหาดี
ดังนั้น เมื่อครั้งที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เข้าบริหารประเทศ จึงชูธงแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

รัฐบาลเดินเครื่องแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยการอัดงบประมาณลงไปให้แก่ประชาชนภาคส่วนต่างๆ ทั้งในรูปแบบ "เงินเดือน" "เงินประจำตำแหน่ง" "เงินช่วยเหลือ" และรูปแบบอื่น อย่างเช่น "เงินกองทุนหมู่บ้าน"
รัฐบาลอนุมัติงบประมาณจำนวนนับพันนับหมื่นล้านเพื่อให้มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม สิ่งปลูกสร้างต่างๆ
รัฐบาลดำเนินการกู้เงินจำนวนมหาศาล เพื่อเอามาใช้จ่ายในส่วนของการลงทุน กระจายเงินให้แก่พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหวังสร้างเอกภาพทางการเมือง

กระทั่งล่าสุด รัฐบาลออกแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 งบประมาณหลายแสนล้านบาท
โดยหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความนิยม และสร้างเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

นอกจากนี้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังประกาศว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และพร้อมจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น

รัฐบาลประสานงานกับรัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาข้อยุติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการสมานฉันท์"
คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้สรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกเป็น 6 ประเด็น ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายการเมือง คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายวุฒิสภาว่าสมควรจะแก้ไข

ภาพรวมความเคลื่อนไหวของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนกับว่า ได้ดำเนินการคืบหน้าไปมาก
คล้ายๆ กับว่า รัฐบาลสามารถคลี่คลายปัญหาไปได้แล้ว
หากแต่เมื่อสดับฟังความเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ กลับพบว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ อยู่เหมือนเดิม

รัฐบาลยังต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อไป โดยมีปัญหาใหญ่ คือ ปัญหาโครงการที่บริหารงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นตามมา
โครงการชุมชนพอเพียง และแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในภาคส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เป็นอุบัติการแรกๆ เห็นชัดแจ้ง

รัฐบาลยังคงต้องแก้ไขปัญหาเอกภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงต่างๆ
ปัญหาการแต่งตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังคาราคาซังอยู่ และกลายเป็นปัญหาระหว่างหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล คือ นายอภิสิทธิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช.

กระทั่งนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เซ็นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องดึงตัวนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี มานั่งในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และปรับคณะรัฐมนตรีเล็กๆ โดยนำเอานายไตรรงค์ สุวรรณคีรี มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

นี่ยังไม่รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในระดับปลัดกระทรวง เรื่อยลงไปถึงระดับปลัดจังหวัดและนายอำเภอ
เช่นเดียวกับเรื่องความแตกแยกภายในสังคม

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ใน 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภาเห็นชอบ
เพียงแต่ให้มีการทำประชามติด้วย

ผลการสนับสนุนดังกล่าว ทำให้กลุ่มพลังมวลชนทั้ง "คนเสื้อแดง" และ "คนเสื้อเหลือง" ถือโอกาสใช้เป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง

กลุ่มคนเสื้อแดงปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพราะเห็นว่า จะเข้าทางรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการยืดอายุรัฐบาลออกไป
และเสนอให้นำเนื้อหารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 กลับมาใช้อีกครั้ง

กรณีนี้ได้รับการสนับสนุนจาก "ส่วนหนึ่ง" ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกลุ่มของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย
แต่ภายหลังนายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้านออกมายืนยันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์

เป็นเหตุให้ ร.ต.อ.เฉลิม ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย

ส่วนกลุ่มคนเสื้อเหลืองนั้น ก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประกาศว่า วันใดที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเริ่มต้นชุมนุมคัดค้านอย่างต่อเนื่อง

เท่ากับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ดึงเอากลุ่มเคลื่อนไหวทั้ง "แดง" และ "เหลือง" ออกมาเผชิญหน้า
กระทั่งคาดการณ์กันว่า นับแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป บรรยากาศม็อบนอกสภาจะกลับมาคึกคักกับเงื่อนไขรัฐธรรมนูญกันอีกครั้ง
ทั้งหมดคือผลงานรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

เป็นผลงานที่แลดู "เหมือนจะแก้ไขปัญหาได้" แต่ "ยังแก้ไขปัญหาต่างๆ มิได้"

ผลงานที่ปรากฏเหมือนกับว่า รัฐบาลกำลังมีพื้นที่เดินน้อยลง ปัญหาความร้าวฉานแผ่ซ่านเข้าไปสู่ภายในรัฐบาล และภายในพรรค

วันนี้รัฐบาลจึงได้แต่ตั้งรับ

รัฐบาลไม่มีโอกาสเป็นฝ่ายรุก

ไม่มีโอกาสนำไทยกลับสู่ความรุ่งเรือง

ที่มา: มติชนรายวัน วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11537

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

newskythailand Gallery

Twitter Updates (thaksinlive)

Red Twitter ทวิตเตอร์เสื้อแดง

จำนวนผู้เยี่ยมชม